ป่าชายเลน
ป่าชายเลนเป็นแหล่งรวมพันธุ์สัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งสัตว์บก สัตว์ปีกและสัตว์น้ำ
นับว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์มาก
โดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลาที่มีมากมายหลายชนิดที่ชาวบ้านสามารถนำมารับประทานและขายเป็นรายได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นป่าชายเลนจึงเปรียบเสมือนตลาดสดสำหรับชุมชน เพราะฉะนั้นชุมชนชายฝั่งจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้นั้นจะต้องขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนเป็นหลัก
นอกจากนั้นป่าชายเลนยังคอยเกื้อหนุนต่อทรัพยากรทางทะเล เช่น
เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดต่างๆ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ
ช่วยป้องกันการพังทลายชายฝั่งจากคลื่นลม และทำหน้าที่รักษาสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่ง
ที่เกื้อกูลต่อพันธุ์สัตว์และพรรณพืช รวมถึงลดมลภาวะทางอากาศและสิ่งปฏิกูลต่างๆ
เป็นต้น มีป่าชายเลนหลายแห่งที่ถูกทำลายและส่งผลต่อจำนวนของสัตว์น้ำที่ลดลง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการทำมาหากินเป็นอย่างมาก ดังนั้นป่าชายเลนจึงถือว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งต่อชุมชนและประเทศชาติ
ปริมาณพื้นที่ป่าชายเลนในไทย
กราฟพื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทยปี พ.ศ. 2504-2552 (หน่วย : ตารางกิโลเมตร)
ตารางอัตราลดลงเฉลี่ยรายปีของพื้นที่ป่าชายเลน ระหว่างปี 2504 - 2539(หน่วย:ไร่)
จากกราฟด้านบนจะเห็นได้ว่า สถานการณ์ของทรัพยากรป่าชายเลนที่เหลืออยู่ในปัจจุบันลดลงไปมากกว่าครึ่งจากอดีต หากสถานการณ์การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนยังเป็นไปในทิศทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็คาดได้ว่าพื้นที่ป่าชายเลนจะถูกแปรสภาพเพื่อกิจการอื่นอย่างต่อเนื่องต่อไป และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างต่อเนื่อง จึงอยากชวนให้ทุกคนมาช่วยกันฟื้นฟูป่าชายเลน ซึ่งวิธีที่ไม่ยากจนเกินไปสำหรับพวกเราคือ การปลูกป่าชายเลน
การปลูกป่าชายเลน
การปลูกป่าชายเลนเป็นการช่วยฟื้นฟู ซึ่งมีโครการที่ตอบสนองในเรื่องนี้นั่นคือโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ โดย รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับภาคเอกชนจัดทำโครงการปลูกป่า
ถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในวโรกาสทรงครองราชปีที่ 50 นั้น กรมป่าไม้ในฐานะที่
หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการปลูกป่าได้รับมอบหมายให้จัดทำพื้นที่
เป้าหมายขึ้นเพื่อใช้เป็นพื้นที่ปลูกป่า
โดยในส่วนที่เป็นพื้นที่ป่าชายเลนนั้น อยู่ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ จำนวน 12 จังหวัด
กราฟผลการปฏิบัติงานโครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์พระบรมราชินีนาถในวโรกาสทรงพระชนมายุ 72 พรรษา พ.ศ.2547-2551(หน่วย:ตารางกิโลเมตร)
แล้วทำไมต้องปลูก ???
-
เป็นแหล่งพลังงาน และแหล่งวัตถุดิบและสิ่งก่อสร้างในครัวเรือน ไม้ป่าชายเลนที่นิยมนำมาเผาถ่านคือ ไม้โกงกาง เพราะติดไฟทนทาน ไม่มีควัน
ไม่ปะทุแตกไฟ ได้ก้อนถ่านสวยงาม ขายได้ราคาดี
นอกจากนี้ไม้ป่าชายเลนมีประโยชน์ใช้สอยและก่อสร้าง เช่น ไม้เสาเข็ม
ไม้ค้ำยัน ไม้ ก่อสร้าง แพปลา
ไม้หลายชนิดนำมาสกัดใช้ทำน้ำหมึก ทำสี ทำกาว ฟอกหนัง
เป็นต้น
- เป็นแหล่งพืชผักและสมุนไพร พืชในป่าชายเลนสามารถนำมาใช้เป็นผักพื้นบ้านได้หลายชนิด
ต้นจากก็เป็นพืชป่าชายเลนอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำส่วนต่างๆมาใช้ประโยชน์ได้ คือ ใบนำมาทำเป็นตับมุงหลังคา ใบอ่อนสามารถนำมามวนบุหรี่ได้
น้ำจากยอดอ่อนสามารถนำมาทำน้ำตาลจากมีรสชาติดี ผลใช้กินเป็นของหวาน
พืชในป่าชายเลนหลายชนิดนำมาใช้เป็นสมุนไพรได้ เช่น เหงือกปลาหมอ มะนาวผี
ใช้รักษาโรคผิวหนัง ผลของตะบูนขาวใช้รักษาโรคบิดและโรคท้องร่วงได้
รากตาตุ่มทะเลใช้แก้อักเสบ แก้ไข้ แก้คัน ได้
- เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำ
เศษซากพืช ใบไม้และส่วนต่างๆ ของไม้ป่าชายเลนที่ร่วงหล่นลงมา
จะถูกย่อยสลายทำให้เกิดสารอินทรีย์ที่
ละลายน้ำ เช่น กรดอะมิโน ซึ่งสาหร่ายและจุลินทรีย์ต่างๆ
จะสามารถใช้เป็นอาหารได้ และ
จุลินทรีย์เหล่านี้เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตต่างๆ
ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนต่อไป
- เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นที่หลบภัยและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ นานาชนิด
สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิดได้ใช้ป่าชายเลนเป็นที่อยู่อาศัย
และอนุบาลตัวอ่อนในบางช่วงของวงจรชีวิตของมัน เช่น ปลากะพงขาว
ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากระบอก ปลาเก๋า กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย หอยนางรม
หอยแมลงภู่ หอยแครง และหอยกะพง ปูแสม ปูม้า
และมีสัตว์น้ำบางชนิดอาจใช้เป็นทั้งแหล่งเกิดและอาศัย เช่นปูทะเล
- ช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่ง โดยเฉพาะหญ้าทะเลและปะการัง
ป่าชายเลนมีบทบาทในการรักษาสมดุลของธาตุอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของน้ำทะเลชายฝั่งซึ่งจะส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมง
- ช่วยป้องกันดินพังทลายชายฝั่งทะเล
รากของต้นไม้ในป่าชายเลน นอกจากจะช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว ยังช่วยบรรเทาความเร็วจากกระแสน้ำลง
ทำให้ตะกอนที่แขวนลอยมากับน้ำทับถมเกิดเป็นแผ่นดินงอกใหม่
เมื่อระยะเวลานานก็จะขยายออกไปในทะเลเกิดเป็นหาดชายเลน อันเหมาะสมแก่การเกิด
ของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนต่อไป
- เป็นพื้นที่สำหรับดูดซับสิ่งปฏิกูลต่างๆ
รากของต้นไม้ในป่าชายเลนที่งอกออกมาเหนือพื้นดิน
จะทำหน้าที่คล้ายตะแกรงธรรมชาติ คอยดักกรองสิ่งปฏิกูล
และสารพิษต่างๆ จากบนบกไม่ให้ลงสู่ทะเล โลหะหนักหลายชนิดเมื่อถูกพัดพามาตามกระแสน้ำ ก็จะตกตะกอนลงที่บริเวณดินเลนในป่าชายเลน
นอกจากนั้นขยะและคราบน้ำมันต่างๆ ก็จะถูกดักกรองไว้ในป่าชายเลนเช่นกัน
- ช่วยปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากภัยธรรมชาติ ป่าชายเลนทำหน้าที่เหมือนปราการ ช่วยบรรเทาความรุนแรงของคลื่นและลมให้ลดน้อยลง เมื่อเทียบกับบริเวณที่ไม่มีป่าชายเลน
- เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและแหล่งศึกษาธรรมชาติ
ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง เพราะเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยพรรณไม้นานาพันธุ์ ที่มีใบ ดอกและผลสวยงาม แปลกตา
อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่มีทั้งสัตว์น้ำ และสัตว์บก โดยเฉพาะนกชนิดต่างๆ
อาศัยอยู่มากมาย ทำให้ป่าชายเลนเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ
และแหล่งศึกษาหาความรู้ที่สำคัญ
- ช่วยลดปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ
ไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูงจึงช่วยลดปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มปริมาณออกซิเจน ทำให้อากาศสดชื่น
--------------------------------------------------------------------------------------
การนำเสนอข้อมูลน่าสนใจดี มีการแบ่งแยกหัวข้อได้อย่างเหมาะสม
ตอบลบสำหรับการนำเสนอข้อมูลประเภท bar chart บางครั้ง ก็ยากที่จะมองเห็นความแตกต่างของปริมาณข้อมูลที่ใกล้เคียงกัน